ตาลีบัน ประกาศชื่อสมาชิกรัฐบาลชั่วคราว มีคนที่ FBI ต้องการตัว ค่าหัวหลายร้อยล้านบาท


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังประกาศชัยชนะเหนือกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านสุดท้ายในจังหวัดปัญจชีร์ ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา กลุ่มตาลีบันก็ประกาศรายชื่อสมาชิกของรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลชุดนี้ของตาลีบันจะเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราว โดยส่วนใหญ่รายชื่อเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และเป็นผู้ชายทั้งหมด คีย์แมนในรัฐบาลชุดนี้ปรากฏมีชื่อของบุคคลที่เป็นที่ต้องการของ FBI สหรัฐฯด้วย ล่าสุดสหรัฐฯออกมาแสดงความกังวล

ไทม์ไลน์ "ตาลีบัน" ยึดอัฟกานิสถาน ปฏิบัติการฟ้าแลบโค่นรัฐบาลใน 3 เดือน

ตาลีบัน ประกาศชัยชนะ ชักธงใหม่ขึ้นในปัญจชีร์

ตาลีบัน จัดพาเหรดฉลองใหญ่ ขนอาวุธสหรัฐฯโชว์แสนยานุภาพ

ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกตาลีบัน แถลงความคืบหน้าของรัฐบาลใหม่อัฟกานิสถานเมื่อคืนที่ผ่านมา รายชื่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้  นั่นคือเป็นสมาชิกคนสำคัญของตาลีบัน และคนที่มีส่วนร่วมในการเจรจาข้อตกลงสันติภาพ

โฆษกตาลีบันระบุว่า นี่จะเป็นรัฐบาลชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายละเอียดว่ารัฐบาลชั่วคราวนี้จะทำหน้าที่นานแค่ไหน

 

ใครเป็นใครบ้างในรัฐบาลใหม่อัฟกานิสถาน ที่ตาลีบันระบุว่าเป็นรัฐบาลชั่วคราว

มีชื่อของ โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุนด์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนรองนายกรัฐมนตรีคือ กานี เบอรัดเดอร์ หัวหน้าสำนักงานการเมืองของตาลีบันในกรุงโดฮาร์ ประเทศกาตาร์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบันด้วย

รองนายกรัฐมนตรี คือ เมาลาวี อาดุล ซาลาม ฮานาฟี หนึ่งในทีมเจรจาข้อตกลงสันติภาพที่กรุงโดฮาร์

ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงต่าง ๆ ที่น่าสนใจคือ 

- โมฮัมเหม็ด ยาคูบ ลูกชายคนโตของโมฮัมเหม็ด โอมาร์ ผู้นำสูงสุดของกลุ่มตาลีบันคนที่ 1 ที่ล่วงลับไปแล้ว จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

- ซิราจุดดีน ฮักกานี หัวหน้าเครือข่ายฮักกานี จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

- เมาลาวี อามีร์ ข่าน อดีตรัฐมนตรีวัฒนธรรมในช่วงที่ตาลีบันปกครองประเทศเมื่อทศวรรษ 1990 จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

อีก 3 กระทรวงได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการข่าวสาร ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้แก่ ไฮดายัด บาดรี, อับดุล ฮาคิม อิสฮาคไซ และ ไครุลเลาะห์ ซาอิด วาลี

นอกจากนั้นยังมีรายชื่ออีกอย่างน้อย 33 คนในรัฐบาลใหม่ ที่ตาลีบันจะทยอยประกาศออกมา

 

จะเห็นว่ารายชื่อที่ออกมาไม่มี ไฮบาตุลเลาะห์ อัคฮุนด์ซาดา ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันของตาลีบัน

อย่างไรก็ตามคาดกันว่า ไฮบาตุลเลาะห์ จะยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของกลุ่มต่อไป และยังคงมีอิทธิพลและอำนาจเหนือคณะรัฐบาล

 

ในรัฐบาลใหม่นี้มี 2 คนที่ได้รับการจับตามองมากเป็นพิเศษ

คนแรกคือนายกรัฐมนตรี - โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุนด์ เป็นสมาชิกระดับสูงของตาลีบันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับโมฮัมเหม็ด โอมาร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มตาลีบันที่ล่วงลับไปแล้วเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถานช่วงปี 1996 - 2001 เกิดที่จังหวัดกันดาฮาร์ ต้นกำเนิดของกลุ่มตาลีบัน สืบเชื้อสายตระกูลมาจาก อาหมัด ชาร์ ดูร์รานี อดีตกษัตริย์อัฟกานิสถาน ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ดูร์รานี และก่อตั้งประเทศอัฟกานิสถานขึ้น คาดกันว่าปัจจุบัน โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุนด์ มีอายุราว 60 ปี

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอัฟกานิสถานถูกจับจ้องเป็นพิเศษเพราะ ปัจจุบันชื่อของเขายังคงอยู่ในลิสต์รายชื่อคว่ำบาตรของสหประชาชาติ หรือที่เรียกว่า UN Sanction

อีกคนที่ถูกจับตามองมากพอ ๆ กัน หรืออาจจะมากกว่าคือ ซิราจุดดีน ฮักกานี ที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำไมเขาจึงถูกจับตามอง เพราะซิราจุดดีน ฮักกานี คือบุคคลที่ FBI ของสหรัฐฯ ต้องการตัวมากที่สุด ตั้งค่าหัวเขาไว้ถึง 230 ล้านบาท โดย FBI ระบุว่า เขาอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายหลังครั้ง และมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ศัตรูหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ

 

หลังปรากฏชื่อของซิราจุดดีน ฮักกานี ในรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถาน ทั้งกระทรวงต่างประเทศและบรรดานักการเมืองสหรัฐฯออกมาแสดงความกังวล

ลินด์เซย์ เกรแฮม สมาชิกวุฒิสภาออกมาระบุว่า เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยคนหัวสุดโต่ง

 

ซิราจุดิน ฮีกกานี เป็นใคร ทำไม FBI จึงต้องการตัวเขา

ซิราจุดิน ฮีกกานี คือผู้นำของเครือข่ายฮักกานี กองกำลังกึ่งอิสระที่อยู่ภายใต้ธงตาลีบัน ผู้ก่อตั้งเครือข่ายคือ จาลาอุดดิน ฮักกานี หนึ่งในนักรบมูจาฮิดีนที่ต่อสู้กับสหภาพโซเวียตในคราวที่โซเวียตบุกอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษ 1980 เขาเคยได้รับตำแหน่งในรัฐบาลตาลีบันช่วงปี 1996-2001 ด้วย

จาลาอุดดิน ฮักกานี ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับสหรัฐฯ  ในช่วงที่สหภาพโซเวียตยึดครองอัฟกานิสถาน CIA ของสหรัฐใช้เขาเป็นตัวเชื่อมเพื่อส่งเงินและความช่วยเหลือให้มูจาฮิดีกลุ่มอื่นๆ ในการต่อสู้กับสหภาพโซเวียต

จาลาอุดดิน ฮักกานี มีรู้จักกับโอซามะห์ บินลาเดน ซึ่งเป็นมูจาฮิดีนที่ต่อสู้กับสหภาพโซเวียตด้วยกัน ทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

โดยเชื่อว่าเครือข่ายฮักกานีนี้เองเป็นคนช่วย บิน ลาเดนให้หลบหนีไปอยู่ในปากีสถานได้ แต่พาหลบไปได้อย่างไร ที่มั่นของเครือข่ายฮักกานีอยู่ทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน ซึ่งมีชายแดนติดกับปากีสถานบริเวณที่เรียกว่า “Tribal area” หรือพื้นที่ชนเผ่ามีภูมิประเทศที่ยากต่อการเข้าถึง มีหุบเขาสูงชัน กฏหมายจากส่วนกลางเข้าไปถึงยาก รัฐบาลปากีสถานต้องใช้กฏหมายพิเศษในการปกครอง ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งฝึกรบและแหล่งกบดานเหล่าบรรดานักรบมูจาฮิดีน ในช่วงรบกับสหภาพโซเวียต ปัจจุบันที่ที่กบดานของกลุ่มติดอาวุธมากมายหลายกลุ่ม

บริเวณนี้เชื่อมต่อกับ Tora Bora ที่โอซามะห์ บินลาเดนใช้หลบซ่อนตัวในช่วงที่หนีการตามล่าของสหรัฐหลังเหตุการณ์ 9/11 ด้วยความช่วยเหลือจากเครือข่ายฮักกานี จึงไม่ยากสำหรับบิน ลาเดน ที่จะข้ามแดนไปยังปากีสถาน

แต่คำถามคือ แล้วปากีสถานมาเกี่ยวอะไรด้วยกับเครือข่ายฮักกานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ใต้ร่มธงของตาลีบันในอัฟกานิสถาน

สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ปากีสถานถูกกล่าวหามาโดยตลอดว่า ใช้กลุ่มตาลีบันเชื้อสายอัฟกันเพื่อผลประโยชน์เชิงนโยบายต่างประเทศของตัวเอง โดยตั้งแต่ช่วง 1980 ที่สหภาพโซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถาน รัฐบาลปากีสกานในขณะนั้นให้หน่วยข่าวกรองของตัวเองคือ ISI ฝึกอบรมกลุ่มมูจาฮิดีนในอัฟกานิสถานเพื่อรบกับโซเวียต ถึงแม้หลังเหตุการณ์ 9/11 ปากีสถานให้ความร่วมมือกับชาติตะวันตกในการต่อสู้กลุ่มก่อการร้ายบางกลุ่ม อย่างกลุ่มอัลไคดา แต่ยังคงแหล่งพักพิงและสนับสนุมกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มเช่น เครือข่ายฮักกานีอยู่เพื่อใช้เป็นตัวแทนในการขยายอิทธิพลในอัฟกานิสถานแข่งกับอินเดีย

สหรัฐฯ กล่าวหาว่า ปากีสถานให้การสนับสนุนเครือข่ายฮักกานี แต่ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะยังต้องพึ่งพาปากีสถานในการทำสงครามก่อการร้าย และทุกครั้งที่สหรัฐฯกล่าวหาว่า ปากีสถานให้ที่พักพิงศัตรูสหรัฐฯ ปากีสถานก็ปฏิเสธทุกครั้ง

ไม่เฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้นที่ไม่พอใจ  อัฟกานิสถานเองก็ไม่พอใจที่ปากีสถานสนับสนุนเครือข่ายฮักกานี เพราะมองว่า เครือข่ายฮักกานีทำลายความมั่นคงของอัฟกานิสถาน ด้วยการก่อเหตุคาร์บอมบ์ ระเบิดฆ่าตัวตายต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

ปากีสถาน อาจอยู่เบื้องหลังตาลีบันผ่านเครือข่ายฮักกานี

ฟางเส้นสุดท้ายคือ เหตุการณ์เมื่อปี 2018 ที่มีกลุ่มติดอาวุธบุกเข้าไปในโรงแรมอินเตอร์คอนติเนตัลในกรุงคาบูล กราดยิงคนเสียชีวิตเกือบ 30 คน ในจำนวนนี้ 14 คนเป็นชาวต่างชาติ  ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในตอนนั้น อัชราฟ กานี ออกมาเปิดหน้ากล่าวหาปากีสถานตรง ๆ ว่า อยู่เบื้องหลัง และให้การสนับสนุนเครือข่ายฮักกานีซึ่งเชื่อว่าเป็นคนก่อเหตุ แน่นอนปากีสถานออกมาปฏิเสธเช่นเคย และนี่คือถ้อยแถลงจาก โมฮัมหมัด ฟาเซล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของปากีสถานในเวลานั้น

อย่างไรก็ตามคนอัฟกันจำนวนมากเชื่อว่า ปากีสถานมีส่วน และในวันที่ตาลีบันขึ้นมาสู่อำนาจ บนท้องถนนในวันนี้จึงมีชาวอัฟกันออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจปากีสถานอย่างที่เห็น

 

คนอัฟกันออกมาประท้วงตาลีบัน ไม่พอใจปากีสถาน

ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ตามท้องถนนของหลายเมือง ชาวอัฟกันจำนวนมากพากันลงถนนประท้วง มีความไม่พอใจหลายประการจากประชาชน ตั้งแต่ สิทธิผู้หญิงที่ตาลีบันกำหนดให้การเรียนในห้องเรียนต้องแบ่งแยกระหว่างสองเพศและมีม่านกั้น  รวมถึงความไม่พอใจปากีสถาน เนื่องจากเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ฟาซี ฮามิด อธิบดีหน่วยข่าวกรองของปากีสถาน เดินทางมายังกรุงคาบูล ซึ่งคาดกันว่ามาเพื่อช่วยตาลีบันจัดระเบียบกองทัพใหม่ ซึ่งตั้งใจจะรวมเอาทหารอัฟกันในสมัยรัฐบาลของอัชราฟ กานี เข้ามาร่วมด้วย

การประท้วงกลายเป็นความวุ่นวาย เมื่อจู่ ๆ ก็มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ส่งผลให้ผู้คนรีบก้มตัวลงกับพื้น ผู้หญิงพากันกรีดร้อง ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า เป็นสมาชิกตาลีบันที่ยิงปืนขึ้นฟ้า

ส่วนนี่คืออีกมุมที่แสดงให้เห็นภาพชัดกว่า ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นผู้คนที่ออกมาประท้วงวิ่งหนีเอาชีวิตรอด ในขณะที่สมาชิกตาลีบันติดอาวุธในชุดทหารพยายามควบคุมความสงบ และบางคนชี้ปลายกระบอกปืนไปยังฝูงชน เบื้องต้นมีรายงานว่า ผู้ประท้วงหลายสิบคนถูกตาลีบันจับกุมตัวไป รวมถึงมีผู้สื่อข่าวที่เป็นชาวอัฟกันถูกตาลีบันทำร้ายร่างกาย ด้วยการฟาดอาวุธปืน AK-47 ใส่จนได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนั้นสำนักข่าว Tolo ยังระบุว่า ตาลีบันยึดกล้องถ่ายภาพไปเพื่อตรวจเช็คภาพด้วย และคืนกลับมาหลังผ่านไป 3-4 ชั่วโมง

และเมื่อวานนี้ ในวันเดียวกันกับที่เกิดเหตุประท้วง และทางตาลีบันออกมาเผยรายชื่อรัฐบาลใหม่ มีรายงานความคืบหน้าของกลุ่มต่อต้าน

น้องชายของอาหมัด ซาร์ มาสซูด อดีตหัวหน้ากองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือในปัญจชีร์ ออกมาแถลงสวนทางกับรายงานของตาลีบันว่า ตาลีบันยังไม่ได้ยึดครองปัญจชีร์ได้ตามที่กล่าวอ้าง

รายงานจาก อาหมัด วาลี มาสซูด ซึ่งมีสถานะเป็นน้าชายของ อาหมัด มาสซูด หัวหน้ากองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือในปัญจชีร์ คนปัจจุบัน แถลงจากกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า

ตาลีบันทำได้เพียงยึดถนนเส้นต่าง ๆ ในปัญจชีร์ แต่พวกเขายังไม่สามารถชนะกลุ่มต่อต้านได้ และปัจจุบันกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือก็ยังมีนักรบที่พร้อมสู้อีกหลายพันราย

นับเป็นความคืบหน้าล่าสุดของฝั่งกลุ่มต่อต้านตาลีบัน หลังในช่วงหลายวันที่ผ่านมาว่า ตาลีบันอ้างว่าพวกเขาได้รับชัยชนะ และยึดทั้งประเทศอัฟกานิสถานได้อย่างสมบูรณ์  อย่างไรก็ตามด้านอาหมัด มาสซูดเองยังไม่มีความเคลื่อนไหวล่าสุดออกมา

ความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในสงครามอัฟกานิสถาน 20 ปี

อนาคตอัฟกานิสถานและโลก ในวันที่ “ตาลีบัน” หวนคืนอำนาจ

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ