ยูเครนประณามรัสเซีย สังหารหมู่พลเรือนกว่า 410 คน
"เซเลนสกี" โผล่เวที "แกรมมี อวอร์ดส์" กล่าวสุนทรพจน์ขอแรงหนุนยูเครน
นอกจากนี้ยังพบหลุมฝังศพหมู่จำนวนมากในเมืองเหล่านี้ หลายศพอยู่ในสภาพถูกมัดมือมัดเท้า บางศพมีร่องรอยการถูกสังหารด้วยกระสุนปืนยิงเข้าด้านหลังของศีรษะ เป็นความโหดเหี้ยมที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทางการทหาร ผู้นำยุโรปหลายคนระบุว่า นี่คือ การก่ออาชญากรรมสงคราม
ภาพถ่ายดาวเทียมของบริษัทแม็กซาร์ของสหรัฐฯ เปิดเผยภาพของสนามเพลาะความยาว 14 เมตร ที่ถูกขุดขึ้นในพื้นที่โบสถ์ St. Andrew ภายในเมืองบูชา
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเคียฟเมืองหลวงของยูเครน มีการระบุว่า ในหลุมมีศพจำนวนมากถูกฝังอยู่ โดยภาพนี้ถูกถ่ายไว้เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา
เมื่อวานนี้กองทัพยูเครนเข้าเคลียร์พื้นที่ในเมืองบูชาหลังจากทหารรัสเซียถอนกำลังออกไป พบร่างไร้วิญญาณในชุดพลเรือนจำนวนมากเรียงรายอยู่บนถนนสายหนึ่งของเมืองบูชา นายกเทศมนตรีของเมือง ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ส่วนชาวเมืองที่รอดชีวิตออกมาพูดเป็นพยานถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว
ในภาพรวม นายกเทศมนตรีของเมืองบูชา กล่าวว่า มีพลเรือนของเมืองถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดไม่น้อยกว่า 300 คน
ขณะที่ในภูมิภาคเคียฟ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยยูเครนเปิดเผยว่า พบศพของผู้นำหมู่บ้านมอตซิน พร้อมสามีและลูกชาย ถูกฝังในหลุมทรายที่ไม่ลึกมากนัก
ด้านรัสเซีย ออกมาระบุว่า ภาพที่เห็นในเมืองบูชาเป็นสถานการณ์ที่ยูเครนสร้างขึ้นเอง เพื่อพยายามขัดขวางการพูดคุยและเจรจาสันติภาพ
สำนักข่าว RT ของรัสเซีย รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ที่ออกจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียว่า ภาพถ่าย ภาพวีดีโอที่ยูเครนเผยแพร่ออกมา รวมถึงข้อกล่าวหาที่ว่ารัสเซียก่ออาชญากรรมในเมืองบูชาคือการยั่วยุ เป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์อย่างชัดเจน
โดยระบุว่า กองทัพรัสเซียถอนทหารออกมาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ทำไมภาพนี้จึงเพิ่งปรากฏ
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของรัสเซียดูเหมือนไม่มีผล เมื่อผู้นำหลายชาติ รวมถึงสหประชาชาติออกมาประณามการกระทำดังกล่าว
ผู้นำเยอรมนี นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ที่ออกมาบอกว่า สะทือนใจกับภาพที่เห็นในเมืองบูชา โดยเขาระบุว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม พร้อมเรียกร้องให้มีการอนุญาตองค์การระหว่างประเทศ เช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เข้าไปหาหลักฐานการกระทำผิดเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดและผู้ที่อยู่เบื้องหลังมารับผิดชอบ
ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษออกมาทวีตข้อความว่า นี่คืออาชญากรรมสงคราม ภาพที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงความสิ้นหวังของปูตินที่การทำสงครามในยูเครนล้มเหลว และความพยายามในการบิดเบือนข้อมูลของรัสเซียจะไม่มีผล
ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรซ เลขาธิการสหประชาชาติ โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ ระบุว่ารู้สึกช็อกอย่างยิ่ง กับภาพศพพลเรือนในเมืองบูชา เลขาธิการยูเอ็นได้เรียกร้องให้มีการตั้งคณะสืบสวนอิสระเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
มีรายงานว่า สหภาพยุโรปกำลังหารือกันเพื่อมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม โดยคริสติน แลมเบรคท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมนี บอกว่า ประเด็นที่จะหารือกันคือ การห้ามนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย เพื่อตอบโต้ที่รัสเซียสังหารหมู่พลเรือนในเมืองบูชา
นอกจากในเมืองบูชาแล้ว มีรายงานว่าอีก 2 เมืองในภูมิภาคเคียฟคือ ฮอสโตเมล และเออร์พิน ซึ่งอยู่ติดกับเมืองบูชาก็มีพลเรือนถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดเช่นเดียวกัน
พลเรือนในภูมิภาคเคียฟถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม
เมื่อวานนี้ รัฐมนตรีกลาโหมของยูเครน โอเลคซี เรซนิคอฟ (Oleksii Reznikov) เข้าตรวจสภาพที่เมืองฮอสโตเมลที่เสียหายอย่างหนัก โดยเขาระบุว่า มีพลเรือนจำนวนมากถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ทั้งถูกข่มขืนและยิงจากด้านหลัง
ส่วนประธานาธิบดีเซเลนสกีได้ปรากฏตัวผ่านวีดีโอที่อัดไว้ล่วงหน้าบนเวทีประกาศรางวัลแกรมมี่ ผู้นำยูเครนที่มาชุดเสื้อยืดสีเขียวทหารเรียกร้องให้ศิลปินทั่วโลกใช้อิทธิพลบนสังคมออนไลน์บอกเล่าความเป็นจริงของสงคราม นี่คือส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ของผู้นำยูเครนบนเวทีแกรมมี่
เขาบอกว่า ความเงียบของเมืองที่พังทลาย เด็กๆต้องสิ่งหนีหลบจรวด พ่อแม่ดีใจที่ตื่นมาในตอนเช้าแล้วยังมีชีวิตในหลุมหลบภัย คนที่เรารักที่ไม่รู้ว่าจะได้เจอกันเมื่อไหร่ นักดนตรีของเราสวมชุดเกราะแทนชุดสูท พวกเขาร้องเพลงให้คนบาดเจ็บในโรงพยาบาลฟัง ร้องให้คนที่แม้ไม่มีโอกาสได้ยินอีกแล้ว แต่เสียงดนตรีจะฝ่าฟันไปถึง
โดยรวมสถานการณ์ในภูมิภาคเคียฟเสียหายหนัก แต่กองทัพยูเครนสามารถยึดพื้นที่คืนได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ขณะที่การปฏิบัติการทหารทหารที่รัสเซียบอกว่า จะมุ่งไปที่ทางตะวันออก ก็ไม่ใช่เฉพาะทางตะวันออกเท่านั้น แต่เป็นการโจมตีและรุกหนักทางใต้ด้วย
เผยภาพความเสียหายมาริอูปอล กว่าแสนคนยังตกค้าง
ภาพล่าสุดจากเมืองที่โดนโจมตีหนักที่สุด นั่นก็คือมาริอูปอล ภาพโดรนนี้ตอกย้ำข้อมูลที่เราได้ยินมาตลอด 4 สัปดาห์ นั่นก็คือเมืองที่ประชากรกว่า 400,000 ย่อยยับไม่มีชิ้นดี ส่วนนี่คือภาพล่าสุดของโรงละครซึ่งใช้เป็นที่หลบภัยของคนมากกว่า 1,000 คนรวมถึงเด็ก แต่ถูกโจมตีจนย่อยยับ มีผู้เสียชีวิตตรงจุดนี้อย่างน้อย 300 คน
ส่วนการอพยพประชาชนที่ติดอยู่ในเมืองก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือไอซีอาร์ซี (ICRC) พยายามจะอพยพประชาชนออกมาจากเมืองดังกล่าวตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถทำได้เพราะยังไม่ปลอดภัย
ตอนนี้ยังมีคนประมาณ 1.6 แสนคน ตกค้างอยู่ภายในเมืองมาริอูปอล ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ทวีความรุนแรงขึ้น จากการขาดแคลนอาหาร น้ำดื่มและยารักษาโรค