สำหรับในวันสารทจีนจะตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเดือน 7 ของจีน ถือเป็นเดือนแห่งผี เนื่องจากคนจีนเชื่อว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ประตูยมโลกเปิดให้ผีวิญญาณขึ้นมารับส่วนบุญส่วนกุศลบนโลกมนุษย์ได้ วันสารทจีนจึงถือเป็นช่วงกลางเดือนของเดือนผี เป็นวันพิเศษที่เต็มไปด้วยกิจกรรมทางประเพณีความเชื่อ ซึ่งนอกจากเซ่นไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับแล้ว อีกหนึ่งวัตถุประสงค์หลักของเทศกาลนี้คือการไหว้ "ผีไม่มีญาติ" ที่ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก "ฮ่อเฮียตี๋"
สารทจีนในไทยมีกิจกรรมไหว้เพียงวันเดียว คือ
วันกลางเดือน 7 จีน (ตรงกับ 18 สิงหาคม 2567) ซึ่งไหว้ครบ 3 เวลา คือ เช้าไหว้เจ้า สายไหว้บรรพบุรุษ บ่ายไหว้ผีไม่มีญาติ
การไหว้ตอนเช้าไหว้เจ้าทั้งหมดเหมือนตรุษจีน โดยมากมักจะแยกไหว้หลายที่ คือ
1. หิ้งเจ้าในบ้าน ที่เรียกว่า “เหล่าเอี๊ย” ซึ่งหมายถึงเจ้าทั้งหลาย
2. ตี่จู๋เอี๊ยคือเจ้าที่ในบ้าน ซึ่งทำเป็นศาลเล็ก ๆ วางไว้กับพื้นดิน
บางบ้านไหว้ศาลพระภูมิไทย ศาลเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่เพิ่มด้วย ไม่ว่าจะไหว้กี่ที่ก็ตาม แต่อย่างน้อยต้องไหว้ “เหล่าเอี๊ย” กับ “ตี่จู๋เอี๊ย”
โดยของไหว้จะเหมือนกับเทศกาลตรุษจีน คือมีขนมเข่งด้วย ปกติขนมเข่งเป็นของไหว้ประจำเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น แต่ด้วยความเคยชินใช้กันมานานจึงกลายเป็นของสำคัญในวันสารทจีนไปด้วย เว้นแต่ในบางที่ที่มีความเข้าใจในการไหว้และการบูชาเซ่นไหว้ด้วยของไหว้ ก็จะไม่ใช้ขนมเข่งไหว้สารทจีน
ช่วงสายเวลาประมาณ 09.00-11.00 น. ไหว้ปู่ย่าตายาย ด้วยของไหว้คือของ 9 อย่าง คือ
1.ชา
2.เหล้า
3.ข้าวสวย
4.ซาแซ (เป็ด ไก่ หมู)
5.กับข้าวและของหวาน
6.ของที่ทำมาจากแป้ง
7.ผลไม้
8.กระดาษเงินกระดาษทอง
9.เงินผี
และนิยมมีขนมเข่ง ขนมเทียน
ช่วงบ่ายประมาณหลังบ่ายโมงหรือบ่าย 2 โมงไปแล้ว ไหว้ “ฮอเฮียตี๋”
เดิมนิยมไหว้กลางแจ้ง ต่อมาอนุโลมไหว้ในชายคาบ้านได้ แต่ต้องอยู่นอกธรณีประตู ก่อนไหว้ผู้ใหญ่จะให้เด็ก ๆ ถือธูปคนละกำ เดินไปปักตามถนนหนทางจากที่ไกลเข้ามาหาบ้าน พร้อมกับเรียกอยู่ในใจหรือออกเสียงว่า “ฮอเฮียตี๋ ขอให้ตามควันธูปมากินของเซ่นไหว้ที่บ้าน” เด็ก ๆ จะสนุกกับกิจกรรมนี้มาก แข่งกันวิ่งไปปักธูปให้ไกลที่สุดเรื่อยมาจนถึงบ้าน ของไหว้ต้องมีหลายชนิดและปริมาณมาก กับข้าวบางอย่างไหว้ทั้งหม้อ ของไหว้ทุกอย่างปักธูปดอกหนึ่งและไหว้นานจนธูปหมดดอกหรือเกือบหมดจึงเผากระดาษลา จากนั้นเอาข้าวสารกับเกลือซัดชายคาบ้านเพื่อไล่ให้ผีกลับ เพราะกลัวว่าจะมีผีอยู่ต่อ เป็นภัยแก่คนในบ้าน
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม และ เฟซบุ๊กบัญชีบุญ
เรียบเรียงโดย พีพีทีวี