หลายคนเชื่อว่า “วันไหว้บะจ่าง” มีขึ้นเพื่อรำลึกถึง “ชวี หยวน” กวีผู้รักชาติและขุนนางที่ถูกเนรเทศในช่วงยุคสงครามของจีนโบราณ ผู้ตัดสินใจกระโดดน้ำเสียชีวิต ในวันที่ 5 เดือน 5 (วันไหว้บะจ่าง) เพราะเสียใจที่รัฐฉู่ เมืองที่รักของเขา ตกสู่รัฐฉิน
ดูผิวเผินอาจเป็นเพียงแค่การระลึกถึงวีรชนคนสำคัญคนนี้ แต่เรื่องราวของ “บะจ่าง” เกิดขึ้นหลังจากที่ชาวบ้านทราบเรื่องเขาจมน้ำเสียชีวิต
เพราะชาวบ้านต่างพยายามที่จะพายเรือออกตามหาเขา เพื่อหวังว่าจะช่วยชีวิตเขาได้ทัน โดยประดิษฐ์เรือเป็นรูปมังกร เพื่อป้องกันสัตว์น้ำ และทำบะจ่างขึ้นมา เพื่อโยนลงน้ำ ป้องกันไม่ให้ปลามาแทะร่างของเขา แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์
เพื่อเป็นการรำลึกถึง “ชวี หยวน” ทุกวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจีน ผู้คนจึงจะออกมาตีกลอง และพายเรือที่ตกแต่งเป็นมังกรออกไปในแม่น้ำเหมือนที่เคยทำให้อดีต เพื่อป้องกันปลาและวิญญาณชั่วร้ายให้ออกห่างจากร่างกายเขา หลายคนจึงเชื่อว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ “วันไหว้บะจ่าง” หรือ “ประเพณีแข่งเรือมังกร”
อย่างไรก็ตามมีหลักฐานปรากฏให้เห็นว่าประเพณีแข่งเรือมังกรเกิดขึ้นจริงก่อนที่ “ชวี หยวน” จะเสียชีวิต โดยมีตำนานเก่าแก่ที่เกี่ยวข้องกับ วันที่ 5 เดือน 5 (วันไหว้บะจ่าง) เล่าขานกันมาดังนี้
ความเชื่อโบราณของ "5 เดือน 5" กับตำนานบูชาเทพเจ้ามังกร
คนจีนโบราณเชื่อกันว่าวันดังกล่าวคือวันที่โชคร้าย เพราะเลข 5 คือพลังหยาง เมื่อวันที่ 5 มาเจอกับเดือน 5 อีก จึงถือเป็น “วันพลังหยางซ้อนหยาง”
ประกอบกับเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูร้อนของจีน ซึ่งจะมีสัตว์พิษทั้ง 5 คือ ตะขาบ แมงป่อง งู คางคก และแมงมุม ซุกชุม จึงถือเป็น “เดือนแห่งพิษ” นอกจากนี้ในทางสุขภาพ ยังเป็นช่วงที่ผู้คนจะล้มป่วยหรือเกิดโรคระบาดได้ง่ายอีก
ดังนั้นเดิมที “ประเพณีแข่งเรือมังกร” จึงมีขึ้นเพื่อบูชามังกร ซึ่งคนจีนเชื่อว่าพวกเขาคือลูกหลานมังกร เพื่อให้เทพเจ้าที่พวกเขาเคารพนับถือช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและแมลงมีพิษที่จะชุกชุมในช่วงวันที่ 5 เดือน 5 นี้
และเมื่อมีเรื่องราวของ “ชวี หยวน” เข้ามา ประเพณีการแข่งจึงเป็นตัวแทนของความพยายามในการช่วยเหลือและรำลึกถึงกวีผู้รักชาติด้วย
ช่างภาพพีพีทีวี
บะจ่างห่อใส่ใบไผ่

ที่มาของขนมวิถีจีน “บะจ่าง”
ที่จริงแล้ว “บะจ่าง” มีจุดเริ่มต้นมาก่อน “ชวี หยวน” มานานแล้วเช่นกัน แต่เรื่องราวของวีนชนผู้นี้กลับทำให้ “บะจ่าง” เป็นที่รู้จัก
โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีของจีนชี้ให้เห็นว่า เมื่อ 500,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของชาวจีนกำลังห่ออาหารด้วยใบไม้แล้วย่างบนไฟ และ “บะจ่าง” น่าจะเกิดขึ้นหลังจากชาวจีนเริ่มปลูกข้าว เมื่อประมาณ 8,000 ปีก่อน ซึ่งมักถูกนำไปทำเป็นอาหารในช่วงสงคราม และสำหรับเกษตรกรที่ยุ่งอยู่กับการทำนา จนไม่มีเวลากลับบ้าน
ด้วนเหตุนี้ “บะจ่าง” จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “อาหารกินนอกบ้านแรกของโลก” คล้ายกับแซนด์วิชหรือแฮมเบอร์เกอร์
กระทั่งมีตำนาน “ชวี หยวน” บะจ่างนี้จึงกลายเป็นอาหารในเทศกาลศักดิ์สิทธิ์และได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน
ขอบคุณข้อมูลจาก : Chinahighlights
โปรแกรมบอลยูโร 2024 ทุกคู่ เวลาแข่งขัน EURO 2024
ไทยจ่อเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” มิ.ย.-ส.ค.นี้ หลายปัจจัยทำฝนตกเพิ่มขึ้น