กลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย หลังมีการรับสมัครแรงงานต่างชาติทำนาในญี่ปุ่น รายได้ชั่วโมงละ 1,200 เยน (ราว 320 บาท) จนคนไทยหลายคนต่างถามหาวิธีสมัครกันจ้าละหวั่น แต่น่าเสียดายที่รับเฉพาะผู้ที่มีวีซ่าทำงานหรือวีซ่าอยู่อาศัยระยะยาวในญี่ปุ่นเท่านั้น
โดยแอดมินเพจ ฮอกไกโดแฟนคลับ-Hokkaidofanclub บอกกับผู้สื่อข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี ว่า ช่วงนี้ตรงกับช่วงทำนาในญี่ปุ่น จึงมีความต้องการแรงงานเพิ่มเป็นจำนวนมาก เพราะหลายพื้นที่ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล อย่างเช่น ฮอกไกโด ค่อนข้างขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร
“ญี่ปุ่น” กับบทบาทที่เปลี่ยนไป เพราะสงครามยูเครน-รัสเซีย
วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน อาจทำราคาอาหารโลกไต่สู่ระดับ “แพงนรก”
คนเรียนภาษาญี่ปุ่นและเกาหลีมากขึ้น ความสำเร็จของการส่งออกวัฒนธรรม
“โดยภาพรวมตอนนี้ญี่ปุ่นขาดแรงงานทั่วประเทศ ในภาคประมง เกษตร งานก่อสร้าง งานดูแลผู้สูงอายุ ตอนนี้เลยเปิดให้ต่างชาติเข้ามาทำงาน แต่ละปีรับต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก” แอดมินเพจบอก
อย่างไรก็ตาม เขาเน้นย้ำเงื่อนไขที่ว่า ไม่ใช่ชาวต่างชาติทุกคนจะเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้ ต้องผ่านบริษัทจัดหางาน หรือกรมแรงงาน เนื่องจากการทำงานในต่างประเทศต้องมีวีซ่า ดังนั้นตอนนี้จึงรับแค่คนมีวีซ่าเท่านั้น
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถอ่านบันทึกการทำนาในญี่ปุ่นของเพจ ฮอกไกโดแฟนคลับ-Hokkaidofanclub ได้ที่นี่
สถานการณ์ภาคการเกษตรญี่ปุ่นไม่สู้ดี
สถานการณ์ด้านเกษตรและแรงงานที่เกิดขึ้นนี้ บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นกับค่าแรงที่สูง แต่ในความเป็นจริง การที่ญี่ปุ่ต้องจ้างแรงงานต่างชาติทำนา ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ญี่ปุ่นยังแก้ไม่ตก โดยมันไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิด 2-3 ปีมานี้ แต่เป็นปัญหาของญี่ปุ่นที่สะสมมานานแล้ว
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง และที่ปรึกษา บริษัทจัดหางาน ไทนิชิ ยูโก จำกัด ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านเกษตรกรรมในระดับบัณฑิตจนถึงดุษฎีบัณฑิตจาก Tokyo University of Agriculture ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การเกษตรญี่ปุ่นขณะนี้อยู่ในภาวะ “ทรง ๆ”
“ญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องแรงงานการเกษตรมานานพอสมควร แต่อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพอนุรักษ์ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อให้มันสามารถเลี้ยงประชากรของประเทศได้ ญี่ปุ่นมีประชากร 120 ล้านคน แต่มีจำนวนประชากรภาคการเกษตรแค่ 3-4% เท่านั้นเอง” รศ.ดร.สมชายกล่าว
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรภาคการเกษตรของญี่ปุ่นมีน้อย เกิดจากค่านิยมสมัยใหม่ ที่ทำให้ไม่มีคนมาสืบทอดงานเกษตร
“ญี่ปุ่นไม่ได้ดูถูกอาชีพเกษตรกรรม เขาถือว่าเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีเกียรติ แต่มันมีคำว่า อาชีพ 3K คือ คิทสึอิ (Kitsui) คือหนัก เหนื่อยยาก, คิตะไน (Kitanai) คือสกปรก และคิเค็ง (Kiken) คืออันตราย เขาเรียกอาชัพ 3K เป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำ ต้องตากแดดตากฝน ต้องตัวเปื้อน ต้องมีความเสี่ยง” ที่ปรึกษาบริษัทจัดหางานกล่าว
เมื่อ 3K เป็นอาชีพที่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่อยากทำ ก็ส่งผลให้ปัญหาแรงงานการเกษตรนี้ไม่ว่าญี่ปุ่นจะพยายามส่งเสริมอย่างไรก็ตามก็จะยังคงเป็นปัญหาเหมือนเดิม
มีคนรุ่นใหม่ยูเทิร์น แต่ไม่เพียงพอ
ปัจจุบันที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ เมื่อก่อนคนทำเกษตรมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา เป็นเกษตรกรทั่วไป แต่ปัจจุบัน ญี่ปุ่นยอมให้การเกษตรเป็นนิติบุคคลได้
“ดังนั้นเกษตรกรญี่ปุ่นปัจจุบันก็กลายเป็นเหมือนท่านประธาน เป็นอันหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่หันมาสนใจอาชีพเกษตรมากขึ้น เขามีคำหนึ่งที่ญี่ปุ่นใช้ คือ ยูเทิร์น หมายถึงลูกหลานเกษตรกร สมัยก่อนเข้าเมืองทำงานแล้วไม่กลับบ้าน แต่ปัจจุบันเขายูเทิร์นกลับชนบท กลับบ้าน เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นเยอะมากในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน” รศ.ดร.สมชายกล่าว
เขาเสริมว่า แนวโน้มใหม่นี้ก็เกิดจากค่านิยมยุคใหม่เช่นกัน โดยบางคนมองว่า การทำงานในองค์กรบริษัทมีความเครียดสูง คนรุ่นใหม่อยากเป็นนายตัวเอง อยากเป็นผู้ประกอบการ จึงกลับมาทำเกษตร
ที่ปรึกษาบริษัทจัดหางานบอกว่า การอนุญาตให้เกษตรกรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการปรับภาพลักษณ์เกษตรกร อีกส่วนหนึ่งคือเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีสถานะนิติบุคคลในการลงทุน สามารถกู้ยืมเงินมาพัฒนาการเกษตร ลงทุนเทคโนโลยีจักรกลการเกษตรการขยายพื้นที่ได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ที่ยูเทิร์นกลับมาทำการเกษตรนี้ มีจำนวนน้อยมาก เพียงหลักร้อยหลักพันคนเท่านั้น ไม่มีผลในเชิงปริมาณหรือมีนัยสำคัญทางสังคม โดยจำนวนเกษตรกรทั้งญี่ปุ่น มีถึง 70-80% ที่อายุมากกว่า 60 ปีแล้ว “จำนวนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กลับเข้าไปกับความต้องการแรงงานภาคการเกษตรมันต่างกันโดยสิ้นเชิง”
อนาคตภาคการเกษตรญี่ปุ่น
รศ.ดร.สมชายเล่าว่า ในอดีต ช่วง 20-30 ปีก่อน ญี่ปุ่นจะไม่ยอมให้นำแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นเลย ต่อมาแรงงานเริ่มขาดแคลนจึงปรับมาเป็นการเปิดรับแรงงานที่มีทักษะ หรือกลุ่มผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ สามารถขอวีซ่าทำงานญี่ปุ่นได้ แต่จะไม่รับกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือเลย
แต่ในช่วงหลัง ญี่ปุ่นก็ตัดสินใจยอมปรับ เปิดช่องทางให้แรงงานไร้ฝีมือมีโอกาสเป็นแรงงานประจำของญี่ปุ่น
“ผมเคยเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในญี่ปุ่น ผมเคยพูดตอนนั้นว่า สักวัน ญี่ปุ่นจะต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติแบบไร้เงื่อนไข เวลาผ่านมาเกือบ 20 ปีมันค่อย ๆ เป็นไปตามสิ่งที่ผมทำนาย สมัยก่อนมีเงื่อนไจเยอะมากในการจะเอาแรงงานต่างขาติเข้าญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันแทบจะปูพรมแดงเอาแรงงานเข้าประเทศ” รศ.ดร.สมชายบอก
เขาอธิบายเสริมว่า “ญี่ปุ่นเขาก็รู้ว่าขาดแคลนแรงงาน กฎหมายก็บอกว่าไม่ให้เอาแรงงานไร้ฝีมือเข้าประเทศ ในที่สุดก็ตรากฎหมายใหม่ คือกฎหมายฝึกทักษะทางเทคนิค เอานักฝึกงานเข้าไป ไม่ใช่แรงงานนะ แต่เป็น ‘นักฝึกงานทางเทคนิค’ เข้าไปทำงานที่ญี่ปุ่น”
โดยการเป็นนักฝึกงานนั้น แรกเริ่มจะมีโอกาสได้ทำงาน 3 ปี จากนั้นสามารถขยายเวลาทำงานต่ออีก 2 ปี เมื่ออยู่ครบ 5 ปีแรกนี้ คนที่เข้าร่วมโครงการนักฝึกงานก็สามารถต่อวีซ่าเป็นวีซ่าทำงานได้อีก 5 ปี 2 ครั้ง รวมเป็น 15 ปี
ซึ่งถ้าทำงานผ่าน 10 ปีไปแล้ว นักฝึกงานคนนั้นสามารถพาครอบครัวไปอยู่ญี่ปุ่นได้เลย พูดง่าย ๆ คือได้วีซ่าระยะยาว อยู่ได้ถาวรเลย
“เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ญี่ปุ่นพยายามดึงแรงงานไร้ฝีมือเข้าญี่ปุ่น โดยถือว่าคนที่ผ่านโครงการฝึกงานทางเทคนิค อยู่ญี่ปุ่น 3 ปีแล้ว มีคุณวุฒิน่าจะเทียบเท่าปริญญาตรี พูดญี่ปุ่นได้ ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้ ช่วยงานญี่ปุ่นได้ ก็ออกวีซ่าให้อยู่ในญี่ปุ่นได้ ตอนนี้มีเยอะมากที่ญี่ปุ่นต้องการไปช่วยงาน ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม” ที่ปรึกษาบริษัทจัดหางานกล่าว
ทั้งนี้ รศ.ดร.สมชายเชื่อว่า ปัญหาแรงงานขาดแคลนในภาคการเกษตรของญี่ปุ่นนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่นแน่นอน เพราะการพึ่งพาแต่แรงงานจากต่างชาตินั้นก็มีข้อเสียอยู่
เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรรมญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะนักฝึกงานต่างชาติไม่สามารถเข้าญี่ปุ่นได้จากมาตรการและความเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้เกิดความโกลาหลในการเสาะหาแรงงานมาทำการเกษตรในญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาต่อไปในระยะยาวคือ จำนวนประชากรญี่ปุ่นจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากอัตราการเกิดที่ต่ำ ซึ่งนำไปสู่การแย่งแรงงาน ทำให้งานกลุ่ม 3K ถูกทอดทิ้ง
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีปัญหาเรื่องการ ‘ขาดแคลนสะใภ้เกษตรกร’ คือผู้หญิงญี่ปุ่นในยุคสมัยนี้ ไม่ค่อยแต่งงานกับคนที่ทำเกษตร เพราะกลัวลำบาก ต้องทำงานเกษตร ต้องไปชนบท จึงไม่ค่อยแต่งงานกับเกษตรกร
“ฉะนั้น เรื่องชาวนา ไม่มีคนทำนา มีผลกระทบต่อญี่ปุ่นแน่นอน 100% เพราะคนเกิดน้อยลง และทำอาชีพ 3K น้อยลง แม้จะมีการยูเทิร์นก็ตาม แต่เปอร์เซ็นต์มันน้อยมาก มีช่วงที่คนกลับมาทำเกษตร ทั้งประเทศ มีจำนวนน้อยกว่าพนักงานบรรจุใหม่ของบริษัทรถยนต์ชื่อดังของญี่ปุ่นเพียงบริษัทเดียว พนักงานปีหนึ่ง 4,000 คน มีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กลับไปทำเกษตรไม่ถึง 4,000 คน ปริมาณมันน้อยมากเมื่อเทียบกับเกษตรกรที่อายุมากหรือเสียชีวิตไป” รศ.ดร.สมชายกล่าว
เขายังทำนายว่า “ในอนาคต ผมมั่นใจ 100% ว่า ญี่ปุ่นจะต้องเปิดให้ต่างชาติเข้าไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมในญี่ปุ่นได้ แทนที่จะนำเข้าสินค้าต่างประเทศ แต่จะนำคนไปผ่านกระบวนการที่สร้างขึ้น ไม่ว่าจะนักฝึกงานก็ดี วันหนึ่งญี่ปุ่นจะพยายามดึงคนกลุ่มนี้ไว้ในประเทศตัวเอง แล้วทำเกษตรในประเทศตัวเอง ผลิตอาหารภายในประเทศ แทนที่จะซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ภาพนี้เกิดขึ้นแน่นอน ภายใน 20-30 ปี ไทยก็เช่นเดียวกัน”
มองญี่ปุ่นย้อนดูไทย สถานการณ์คล้ายคลึงกัน
สาเหตุที่ รศ.ดร.สมชาย บอกว่า ปัญหาภาคการเกษตรแบบญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นในไทยเช่นกัน เนื่องมาจาก ประเทศไทยเอง ก็มีประชากรภาคการเกษตรลดน้อยลง อัตราการเกิดของเด็กก็ลดลงจากหลายปัจจัย ทั้งการเมือง สภาพแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ รวมถึงค่านิยมที่หันไปให้ความสำคัญกับวิชาชีพอื่น
“ชาติเราอันตรายมากในอนาคต เด็กไม่มาเรียนเกษตร คนไม่เรียนเกษตร ไม่มาเป็นเกษตร ไม่มาเป็นผู้ประกอบการเกษตร ทุกคนมุ่งหน้าเข้าโรงงาน” เขาบอก
รศ.ดร.สมชายกล่าวสรุปว่า “ถ้าเราจะเรียนรู้จากญี่ปุ่น สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ การสร้างคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก เพื่อให้คนไทยมีกิน 3 มื้อทุกวันให้ได้ เพราะในอนาคตเราจะเจอแบบญี่ปุ่น ไม่มีเกษตรกรเพียงพอเลี้ยงประชากรในประเทศ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ความมั่นคงประเทศเราเสียหายแน่นอน”
จีน งดรับทุเรียนไทย 3 วัน เจอปนเปื้อนโควิด 10 ตู้คอนเทนเนอร์
อาหารหมักดองตัวการร้าย สร้าง "มะเร็งหลังโพรงจมูก"
ขอบคุณภาพจาก เพจ ฮอกไกโดแฟนคลับ-Hokkaidofanclub