ชีวิตอยู่ยากเหลืออะไรให้กิน “ไขมันทรานส์-สารเคมีตกค้าง”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อาหารที่ชอบก็มีไขมันทรานส์ จะเหยาะน้ำปลาก็ต้องระวังน้ำปลาปลอม จะกินเนื้อไก่ก็ต้องระวังยาปฏิชีวนะตกค้าง หันไปสบตาผักอยากหยิบมากินก็ต้องดูให้ดีว่ามีสารเคมีตกค้างหรือไม่?

ตลอดเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับอาหารทำให้แทบทุกคนต้องหันมาใส่ใจเรื่องการกิน จนเกิดคำถาม “เหลืออะไรให้ฉันกินบ้าง?” เริ่มที่เรื่อง ไขมันทรานส์ หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขระบุถึงเหตุผลที่สั่งห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่าย “กรดไขมันทรานส์” น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าไขมันทรานส์เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด โดยมีผลบังคับใช้ 180 วันหลังประกาศวันที่ 13 มิถุนายน หรือประมาณมกราคมปี 2562 ศูนย์บริการสุขภาพ BDMS WELLNESS CENTER ได้รวบรวมอาหารที่มีไขมันทรานส์ 9 ชนิด ที่ควรหลีกเลี่ยง ประกอบด้วย ขนมขบเคี้ยว คุกกี้ แครกเกอร์ เค้ก โดนัท ลูกชิ้น เฟรนฟรายส์ นักเก็ต และแฮมเบอร์เกอร์

อ่านข่าว :

ภาคธุรกิจตอบรับประกาศยกเลิก “ไขมันทรานส์” แม้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

“ไขมันทรานส์” คืออะไร ถึงคร่าคนได้ทั้งโลก 5 แสนคนต่อปี

“ไขมันทรานส์” ทำเกิดโรคหัวใจ-หลอดเลือด ส่อกระทบธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก

แอดมินเพจเคมีฟิสิกส์อาหารแนะ วิธีดู “ไขมันทรานส์”ในฉลากสินค้า

"น้ำปลาปลอม" ทำจากเกลือ – คาราเมล

วันที่ 18 ก.ค.61 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน บริษัท ตงเฮงผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด หลังได้รับแจ้งว่าโรงงานแห่งนี้แอบลักลอบผลิตน้ำปลา และน้ำส้มสายชูปลอม เบื้องต้นพบคนงานจำนวน 7 คน กำลังนั่งบรรจุน้ำปลา และน้ำส้มสายชูอยู่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีรถกระบะเข้ามารับสินค้า สำหรับส่วนผสมน้ำปลา จะมีสูตรผสมคือใช้น้ำเกลือ คาราเมล น้ำ และสารกันบูด (อ่านข่าว : ทลายโรงงาน "น้ำปลาปลอม" พบทำจากเกลือ – คาราเมล )

“เนื้อไก่สด และตับไก่สด” มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

วันที่ 19 ก.ค.61 สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แถลงผลทดสอบ “การตกค้างจากยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในเนื้ออกไก่ และตับไก่สด” โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolone Group) คือ เอนโรฟลอคซาซิน (Enrofloxacin) กลุ่มที่ 2 กลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracycline Group) คือ ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) กลุ่มที่ 3 กลุ่มเบต้า - แลคแทม (Beta - Lactam Groups) คือ อะม็อกซีซิลลิน(Amoxicillin)       

ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด พบการตกค้างตกของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 41.93 โดยพบ 5 ตัวอย่างตกมาตรฐานการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดเอนโรฟลอคซาซิน (Enrofloxacin) เนื่องจากเป็นยาที่นอกเหนือบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่งสามารถใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างของยาดังกล่าว อีก 21 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) แต่ไม่ตกมาตรฐาน และตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะชนิดอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ส่วนอีก 36 ตัวอย่างนั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้ง 3 กลุ่ม

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสัตว์ มีอันตรายทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ คือ การดื้อยา การแพ้ยา และอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ส่วนอันตรายของยา Doxycyclin จะทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ เช่น อาจทำให้ฟันมีสีคล้ำ สามารถพบเห็นได้ในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ มีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร มีผื่นคันบริเวณผิวหนัง และอันตรายของยา Enrolfloxacin อาจทำให้เกิดอาการอาเจียนหรือท้องเสีย ทั้งนี้ หากใช้ยาตัวนี้สูงกว่าขนาดที่แนะนำ 10 เท่า อาจทำให้กระดูกอ่อนตามข้อต่อต่างๆ เกิดความเสียหาย และอันตรายของยา Amoxycillin จะทำให้เกิดผื่นคัน ลมพิษ หรือมีอาการหอบหืด หากพบอาการหายใจมีเสียงหวีด (อาการของหอบหืด) หลังใช้ยาควรต้องหยุดใช้ยาทันทีและรีบพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล

กรมอนามัย เตือนกินผักต้องล้าง ลดเสี่ยง “สารเคมีตกค้าง”

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การกินผักเป็นประจำส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายเพื่อความปลอดภัยประชาชนจึงควรใส่ใจเป็นพิเศษในการล้างผักให้สะอาด ซึ่งข้อมูลจากการตรวจการตกค้างของสารเคมีอยู่ในพืชผักที่จำหน่ายในท้องตลาด พบว่า มีผักสด 10 ชนิด ที่มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูงได้แก่ กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว พริก แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักบุ้งจีน มะเขือ และผักชี หากได้รับยาฆ่าแมลงตกค้างในปริมาณมากจะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด ท้องร่วง อาจเกิดหัวใจวายและตาย แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อยๆ ค่อยๆ สะสมในร่างกายจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง

นอกจากนี้ ยังตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลและเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในผักที่นิยมรับประทานเป็นผักแบบสดๆ เช่น ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี กะหล่ำปลี ผักชีฝรั่ง โหระพา สะระแหน่ ใบบัวบก ถั่วพู แตงกวา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ในการเพาะปลูก โดยเชื้อเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในลำไส้ของสัตว์และถูกขับถ่ายออกมากับมูลของสัตว์ เมื่อนำปุ๋ยจากมูลสัตว์มาใช้ในการเกษตรเชื้อโรคนี้ก็อาจปนเปื้อนในผลผลิตได้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารได้

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้บริโภคควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการกินผัก ก่อนกินหรือนำผักมาปรุงอาหาร ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ให้ล้างด้วยน้ำไหล โดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียม ไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถลดสารเคมีตกค้างจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้

ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, กรมอนามัย

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ