อาวุธใกล้หมดคลัง? สหรัฐ-ยูเครนอ้าง รัสเซียยิงปืนใหญ่ลดลง 75%
ยูเครนยังต้องการอาวุธเพิ่ม? โอกาสจบสงครามที่โต๊ะเจรจาริบหรี่
โดยสัญญาณดังกล่าวมาจากการให้สัมภาษณ์ของอเล็กเซ โปลิชชุค ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการประเทศเครือรัฐเอกราช กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กับสำนักข่าวทาสส์ (TASS) ของรัสเซีย ระบุว่า หากยูเครนโจมตีรัสเซียหรือเบลารุส ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐสหภาพ (Union State) เบลารุสอาจมีความชอบธรรมในการเข้าร่วมสงครามภายใต้หลักการที่เรียกว่า “การตอบสนองร่วมกัน (collective response)”
ทั้งนี้หลักการตอบสนองร่วมกันเป็นหลักการทางกฎหมาย ที่รัสเซียกับเบลารุสได้ตกลงร่วมกันไว้ตั้งแต่เมื่อปี 1999 ภายใต้องค์การความร่วมมือที่เรียกว่า Union State ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้จะเปิดทางให้ทั้งสองประเทศร่วมมือกันตอบโต้ภัยคุกคามได้ แม้ว่าจะมีประเทศเดียวที่ถูกโจมตีก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย ย้ำว่า การใช้หลักการดังกล่าวเพื่อโต้ตอบยูเครนเป็นเรื่องที่ผู้นำของทั้งสองประเทศจะต้องไปหารือร่วมกันว่าจะใช้หรือไม่ และจะใช้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดต้องนำไปพิจารณาประกอบกับความเหมาะสมและสถานการณ์ด้วย
ขณะที่หลังจากที่มีการออกมาให้สัมภาษณ์เช่นนี้ หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าสงครามยูเครนจะบานปลาย เนื่องจากมีสัญญาณความเป็นไปได้ว่าเบลารุสอาจร่วมมือกับรัสเซีย เพราะตอนนี้ทั้งสองชาติกำลังอยู่ในระหว่างการซ้อมรบบริเวณชายแดนยูเครนร่วมกัน
นอกจากนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทั้งสองประเทศประกาศว่าจะกระชับความร่วมมือทางทหาร และวางแผนจัดการฝึกซ้อมการบินร่วมกันในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าเบลารุสจะเข้าร่วมสงครามหรือไม่ แต่ทางฝั่งยูเครนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นและจัดการซ้อมรบบริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศที่ติดกับชายแดนเบลารุส เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการบุกทางตอนเหนือ เนื่องจากชายแดนบริเวณนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากกรุงเคียฟของยูเครน โดยจุดที่ใกล้ที่สุดคือ 80 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยทางหลวงที่มีสภาพดี การเดินทางจากชายแดนเบลารุสมาที่กรุงเคียฟจึงใช้เวลาไม่นานนัก
ถ้าย้อนกลับไปในวันแรก ๆ ของการรุกราน ทางฝั่งรัสเซียก็เคยใช้ชายแดนทางตอนเหนือของเบลารุสเพื่อจะเข้ามายึดกรุงเคียฟ แต่ก็ทำไม่เสร็จ ด้านทหารที่ซ้อมรบอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวระบุว่า ตอนนี้สถานการณ์บริเวณชายแดนมีความตึงเครียดแต่ยังควบคุมได้
นอกจากพื้นที่ทางตอนเหนือ อีกพื้นที่หนึ่งในยูเครนที่การสู้รบยังเป็นไปอย่างดุเดือด คือ ที่เมืองโซเลียดาร์ ในแคว้นโดเนตสก์ ที่ล่าสุดทางกระทรวงกลาโหมรัสเซียออกมายืนยันว่า สามารถควบคุมเมืองดังกล่าวได้แล้ว
เมื่อวานนี้ ( 13 ม.ค. 65) อิกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เปิดเผยขณะแถลงการณ์ประจำวันว่า กองทัพรัสเซียสามารถยึดเมืองโซเลียดาร์ได้แล้ว ซึ่งจะทำให้รัสเซียสามารถตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของฝั่งยูเครน และตีวงล้อมทหารยูเครนที่อยู่ในเมืองบัคมุตเพื่อยึดพื้นที่ได้
ต่อมาโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน แถลตอบโต้ว่า เมืองโซเลียดาร์ยังไม่ได้ถูกรัสเซียยึดครองและการต่อสู้ในพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งคำกล่าวอ้างดังกล่าวก็สอดคล้องกับภาพวิดีโอการต่อสู้ในสนามรบที่ทางฝั่งยูเครนเผยแพร่ออกมา
นอกจากการสู้รบที่ดุเดือด อีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การส่งรถถังให้แก่ยูเครนของบรรดาชาติพันธมิตรตะวันตก เนื่องจากมีสัญญาณความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในหมู่ชาติพันธมิตร หลังจากที่โปแลนด์ประกาศมอบรถถังลีโอพาร์ด 2 ให้ยูเครน
โดยประเทศที่ถูกหลายฝ่ายกดดันมากที่สุดในเวลานี้คือ เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดและผู้ถือใบอนุญาตการส่งมอบรถถังรุ่นดังกล่าว เนื่องจากเยอรมนีไม่ยอมตัดสินใจส่งมอบรถถังลีโอพาร์ด 2 ให้แก่ยูเครน และอาจไม่รีบตอบรับคำขอของโปแลนด์และฟินแลนด์ในการส่งมอบรถถังดังกล่าว เพราะกังวลว่าจะเป็นการยกระดับความรุนแรงของสงคราม
เมื่อคืนที่ผ่านมา คริสเทน ฮอฟแมนน์ โฆษกรัฐบาลเยอรมนี ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ ระบุว่า เยอรมนียังไม่ได้รับเอกสารเกี่ยวกับการส่งมอบรถถังดังกล่าวจากทั้งโปแลนด์และฟินแลนด์ ทำให้ยังไม่สามารถพิจารณาเรื่องการส่งมอบได้
ด้านโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ขณะที่ไปเยือนอิรักว่า เยอรมนีจะช่วยเหลือยูเครนร่วมกับประเทศยุโรปอื่น ๆ ต่อไป แต่การช่วยเหลือดังกล่าวต้องทำอย่างระมัดระวัง
ขณะเดียวกัน พลรถถังของยูเครนที่อยู่พื้นที่แนวหน้าของแคว้นโดเนตสก์ ระบุว่า พวกเขาต้องการรถถังรุ่นใหม่จากชาติตะวันตก เพราะรถถังที่ใช้อยู่ในตอนนี้เป็นรุ่นเก่าสมัยสหภาพโซเวียต ที่ทหารต้องประจำการในรถถังใกลกับกระสุนปืนใหญ่ ถ้ารถถังถูกฝั่งรัสเซียโจมตี ทหารที่ประจำการอยู่ในรถถังจะไม่มีโอกาสรอดชีวิตเลย แต่รถถังที่ผลิตโดยชาติตะวันตก ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้พลขับมีโอกาสรอดชีวิตหากถูกโจมตี เนื่องจากกระสุนปืนใหญ่จะอยู่ด้านหลังของรถถังในส่วนที่ไม่ติดกับที่นั่งของพลขับ
ทหารพลรถถังของยูเครน ระบุอีกว่า ความปลอดภัยของพลขับคือปัจจัยที่ทำให้ยูเครนต้องการถถังของชาติตะวันตก ส่วนเรื่องระบบที่ทันสมัยอย่างระบบจีพีเอส หรือระบบตรวจจับความร้อนเป็นเรื่องรอง