เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำรัสเซียประกาศแผนติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในเบลารุส ซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครนที่เป็นคู่สงครามของรัสเซีย และมีพรมแดนติดกับชาติสมาชิกนาโต เช่น ลิทัวเนีย ลัตเวีย และโปแลนด์
แผนการนี้ของรัสเซียทำให้หลายชาติเป็นกังวลถึงแม้จะเป็นนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีซึ่งเป็นอาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กก็ตาม
แต่รัสเซียไม่ฟังเสียงกังวล วันนี้เดินหน้าซ้อมยิงขีปนาวุธข้ามทวีปหรือ ICBM ซึ่งเป็นขีปนาวุธที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ที่มีพลังทำลายล้างสูงได้
"ปูติน"ยืนยันติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุสเป็นเรื่องปกติ
IAEA เตือนโลกเสี่ยงเผชิญหายนะนิวเคลียร์อีกครั้ง
วันนี้ 29 มี.ค. กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้เผยแพร่ภาพวิดีโอการซ้อมรบของกองทัพ โดยภาพการซ้อมรบที่ถูกเผยแพร่ออกมาปรากฎภาพของขีปนาวุธ รุ่นอาร์เอส-24 ยาร์ (RS-24 Yars) ที่ถูกนำมาร่วมขบวนซ้อมรบร่วมกับอาวุธยุทโธปกรณ์อีกมามาย
กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า จะมีการทดสอบยิงขีปนาวุธยาร์ใน 3 ภูมิภาคของรัสเซีย แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเป็นภูมิภาคใดบ้าง
ขีปนาวุธยาร์เป็นขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) มีพิสัยการยิงอยู่ที่ 11,000-12,000 กิโลเมตรด้วยความเร็วที่ประมาณ 25,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยพิสัยและความเร็วนี้สามารถโจมตีได้ถึงกรุงวอชิงตัน ดีซี เมืองหลวงสหรัฐฯได้ ที่สำคัญคือ มันสามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้หลายหัวในคราวเดียวกัน
อาวุธนิวเคลียร์ที่ถูกติดตั้งในขีปนาวุธลักษณะนี้คือ อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งมีพลังการทำลายล้างสูงแบบที่โลกเคยได้เห็นในช่วงที่สหรัฐฯ ใช้ถล่มญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
การออกมาแสดงท่าทีเช่นนี้คือ การพยายามแสดงศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของกองทัพรัสเซีย หลังจากเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินประกาศติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีในเบลารุส เพื่อตอบโต้ที่สหราชอาณาจักรส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ซึ่งรัสเซียถือว่ามีองค์ประกอบด้านนิวเคลียร์ให้กับยูเครน นี่ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ที่รัสเซียส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปติดตั้งนอกแผ่นดินของตนเอง
การแสดงแสนยานุภาพทางด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียทั้งนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์และด้านยุทธวิธี กำลังสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย เพราะเกิดขึ้นในวันที่ความมั่นคงระหว่างประเทศเปราะบางกำลังอย่างยิ่ง
ประเทศที่กังวลกับการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียมากที่สุดคือ ประเทศสมาชิกนาโตในภูมิภาคบอลติก เช่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ เนื่องจากมีพรมแดนติดกับเบลารุสและมีพื้นที่บางส่วนติดกับแคว้นคาลินินกราดของรัสเซีย
ด้าน มาแตอุช มอราวีแยตสกีส นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ แถลงว่า สหภาพยุโรปจะคว่ำบาตรเบลารุสเพิ่มเติมจากการกระทำดังกล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลโปแลนด์จะพิจารณามาตรการทวิภาคีต่าง ๆ ที่เคยทำร่วมกับเบลารุสใหม่ เพื่อส่งสัญญาณว่าโปแลนด์ไม่ยอมรับการที่รัสเซียจะติดอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส
ด้านโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ตอบคำถามนักข่าวเกี่ยวกับเรื่องการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียในเบลารุสเช่นกัน โดยระบุสั้นๆ ว่า เขากังวลกับเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานวันนี้ว่า สหรัฐฯ ได้แจ้งรัสเซียว่าจะยุติการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับคลังอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง เพื่อเป็นการตอบโต้ที่รัสเซียระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ New Start เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา
สนธิสัญญา New Start เป็นสนธิสัญญาฉบับสุดท้ายระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ มีเป้าหมายเพื่อควบคุมและจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาตร์ของทั้งสองฝ่ายให้ไม่เกิน 1,500 ลูก
การประกาศระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาหมายความว่า ต่อจากนี้ไปรัสเซียไม่จำเป็นต้องจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ ไม่ต้องจำกัดจำนวนเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ไม่จำเป็นต้องจำกัดจำนวนฐานปล่อยขีปนาวุธ รวมถึงมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้คณะเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบของสหรัฐฯ เดินทางเข้าตรวจสอบแหล่งที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของรัสเซียด้วย
ด้านจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า ในเมื่อรัสเซียทำเช่นนั้นได้ สหรัฐฯ ก็จะทำเช่นเดียวกันและหากรัสเซียต้องการให้สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลด้านอาวุธนิวเคลียร์ รัสเซียก็ต้องกลับเข้าสู่ข้อตกลง
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ได้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายเช่นกัน เพราะนี่หมายความว่าโลกจะไม่ได้รับรู้ความคืบหน้าหรือจำนวนนิวเคลียร์ที่สองชาติมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ครอบครอง ความกังวลเกี่ยวกับการนิวเคลียร์นี้ได้เกิดกับหลายประเทศ รวมถึงในรัสเซีย
โดยป้ายโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์หลายป้ายในกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย ได้ขึ้นข้อความบอกสาธารณชนให้เตรียมกระเป๋าฉุกเฉินนิวเคลียร์ (nuclear grab bags) ซึ่งเป็นกระเป๋าบรรจุสิ่งของที่จำเป็นสำหรับยังชีพ คนที่นั่นบอกว่าไม่ได้กังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็อาจต้องเตรียมพร้อมไว้บ้างเผื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด